Basic Photography EP.14 : ปรับสีให้สดสวยตามสภาพแสง ด้วย White Balance
สีของภาพนอกจากจะขึ้นกับการปรับปริมาณแสง การเลือกโหมดสีของภาพให้เหมาะสม และการปรับตั้งค่าความเปรียบต่าง ความจัดจ้านของสี รวมทั้งลักษณะของสิ่งที่อยู่ในภาพนั้นแล้ว แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพมีผลอย่างมากต่อสีของภาพที่จะได้ หากปรับสีภาพตามแสงที่ใช้ไม่ถูกต้องแล้ว จะมีผลทำให้ภาพสีซีดและสีผิดเพี้ยนได้ เช่น ถ่ายภาพฉากหลังเป็นต้นไม้ สีผิวคนอาจจะติดสีม่วง ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นแล้วสีของท้องฟ้าซีด ไม่แดงแบบที่ตาเห็น ภาพอมสีฟ้าเขียวเวลาถ่ายภายใต้แสงทังสเตน และภาพอมเหลืองแดงเมื่อถ่ายภาพด้วยแสงทังเสตน ตาของคนเราสามารถปรับสีตามแสงได้ แต่กล้องดิจิตอลไม่ได้มีความสามารถในการปรับสีตามแสงที่ใช้งาน การปรับสมดุลสีภาพตามลักษณะแสงที่ใช้เรียกว่า ระบบ White Balance ซึ่งเป็นระบบการทำงานหลักที่สำคัญของกล้องดิจิตอลทั้งงานภาพนิ่งและวิดิโอ
ระบบสมดุลสีของแสงในกล้องดิจิตอลหรือ White Balance ทำงานโดยการแก้สีภาพตามแสงที่วิเคราะห์ได้จากภาพ การปรับโดยการเข้าสู่ Menu ของตัวกล้อง มีให้เลือกใช้งานหลักๆ คือ
1. Auto WB ปรับสีตามแสงอัตโนมัติ เหมาะกับการใช้งานทั่วไปมีความแม่นยำสูง แต่ถ้าสีของแสงเพี้ยนมากๆ จะไม่สามารถแก้ได้หมด และไม่เหมาะกับภาพที่ไม่มีส่วนสีขาว หรือเทาอยู่ในภาพนั้น เพราะกล้องอาจจะวิเคราะห์สีผิดเพี้ยนได้
2. ระบบ Preset เป็นค่าที่ปรับตั้งจากโรงงานให้ใช้ตามลักษณะของแหล่งกำเนิดแสง มีให้เลือกคือ
Daylight รูปดวงอาทิตย์ สำหรับถ่ายภาพตอนแดดออก หรือต้องการเห็นสีที่แท้จริงของแหล่งกำเนิดแสงโดยไม่ปรับแก้
Cloudy รูปเมฆ สำหรับถ่ายภาพในร่มเงาหรือสภาพแสงครึ้มฟ้าครึ้มฝน จะแก้สีน้ำเงินของแสงโดยการใส่สีเหลืองส้มเข้าไป
Fluorescent รูปหลอดนีออน ใช้ถ่ายภาพด้วยแสงฟลูออเรสเซนท์ มีให้เลือก 3 แบบคือ แสงสีขาว สีอุ่น(อมน้ำตาล) และสีเย็น(อมน้ำเงิน)
Tungstane แสงจากหลอดทังสเตน แก้สีภาพโดยการใส่สีน้ำเงินเข้าไป
Underwater ถ่ายภาพใต้น้ำหรือในตู้ปลา จะแก้สีน้ำเงินในภาพให้ลดน้อยลง
3. ค่า Kelvin เป็นการตั้งสีภาพตามอุณหภูมิสีของแสง มีให้เลือกตั้งแต่ประมาณ 2000-1000 K การใช้งานที่ถูกต้องคือต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิสีซึ่งมีราคาสูงมาก หรือใช้วิธีเอากระดาษเทาตั้งไว้หน้ากล้อง แล้วปรับค่า Kelvin และจูนทีจนกระทั่งเห็นกระดาษเทาเป็นสีเทาก็ได้
4. Custom WB เป็นการปรับโดยให้กล้องอ่านจากภาพที่ถ่ายได้ จะต้องใช้กระดาษสีขาวหรือเทาในการตั้งค่า มีความแม่นยำสูงมาก
การปรับค่า WB จะทำให้ได้สีที่สมจริงมากยิ่งขึ้น ให้สีสันของภาพสดใสอย่างที่ควรจะเป็น และยังสามารถปรับตั้ง WB เพื่อให้สีเปลี่ยนไปในเฉดที่ต้องการได้ด้วย โดยเฉพาะในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นและตกสามารถเปลี่ยนค่า WB เพื่อให้ภาพออกส้มแดงให้ท้องฟ้าสวยยิ่งขึ้นได้ หรือเวลาถ่ายภาพท้องฟ้าแบบเงาดำ ก็ยังสามารถปรับสีให้ท้องฟ้าเป็นสี้นำเงินมากขึ้น การปรับค่า WB ช่วงแรกอาจจะทำได้ไม่คล่องนักสำหรับมือใหม่ แนะนำถ่ายภาพไฟล์ RAW ติดไว้ จะสามารถมาปรับแต่งในภายหลังได้สะดวกและได้ความแม่นยำสูงกันผิดพลาดได้อีกด้วย
Bookmarks