Basic Photography EP.13 : การใช้ Histogram กับลักษณะภาพแบบต่างๆ
การวัดแสงโดยดูเสกลวัดแสงมักมีความผิดพลาดบ่อยครั้งแม้ว่าระบบวัดแสงของกล้องจะถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม เพราะว่าลักษณะภาพที่มีส่วนสว่างและมืดที่ไม่คงที่และยากจะคาดเดาทำให้กล้องอาจจะวัดแสงได้ไม่ตรงใจผู้ถ่ายสักเท่าไร ต้องอาศัยความชำนาญและเข้าใจในการทำงานของระบบวัดแสงเป็นอย่างดีจึงจะสามารถควบคุมการวัดแสงให้ได้ดังใจได้ ส่วนการมองภาพทาง EVF และ LCD หลังกล้อง แม้จะให้ภาพที่ตรงใจมากกว่า ยังมีจุดอ่อนตรงสีของภาพยังขึ้นกับความสามารถในการแสดงผลของจอภาพและระบบการแสดงภาพด้วย ดังนั้น กล้องดิจิตอลจึงมีฟังก์ชั่นหนึ่งเพิ่มเติมเข้ามาคือ Histogram เพื่อแสดงการกระจายว่ามีพิกเซลจำนวนเท่าไรอยู่ที่โทนสีใดบ้าง ซึ่งกราฟ Histogram จะมีอยู่ในกล้องดิจิตอลแทบทุกรุ่น
ภาพกราฟ Histogram หลังกล้อง
การอ่านค่ากราฟ Histogram เป็นกราฟระหว่างความสว่าง(Lightness) และจำนวนพิกเซล แนวนอนจะเป็นความสว่างของภาพ ไล่จากมืด(ซ้าย) ไปยังสว่าง(ขวา) โดยมีโทนในแต่ละตำแหน่งกราฟโดยประมาณดังนี้
สีของภาพจะถูกแบ่งออกตามระดับความสว่างออกเป็นประมาณ 7 ส่วนโดยประมาณ คือ ดำสนิท เทาดำ เทาเข้ม เทากลาง เทาอ่อน ขาวอ่อน ขาว ดังลักษณะภาพ กราฟ Histogram ขึ้นตรงไหนสูงแสดงว่าทีพื้นที่ส่วนนั้นมาก เช่น ภาพตัวอย่างนี้มส่วนโทนสีเทาอ่อนสูง มีส่วนขาวและส่วนดำน้อยมาก เป็นต้น กราฟ Histogram ไปขึ้นที่ตรงไหน แสดงว่ามีพิกเซลที่มีสีอยู่บริเวณนั้น ส่วนจำนวนพิกเซลมากหรือน้อยให้ดูที่ความสูงของกราฟ
ลักษณะภาพมีโทนกลางเยอะ
ลักษณะภาพมีโทนสีเข้มเยอะ มีส่วนมืดมาก
ลักษณะภาพมีโทนสีสว่างเยอะ
ลักษณะภาพมีโทนดำและขาวจนไม่มีรายละเอียด แต่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่กระจายตัวกัน
หลักการใช้งานง่ายๆ คือ เราจะอ่านสีจากภาพแล้วดูลักษณะภาพเป็นอย่างไร จากนั้นก็ปรับแสงให้กราฟเหมาะสมกับลักษณะภาพนั้น โดยขั้นตอนแรกเราจะปรับภาพให้ได้โทนสีที่ใกล้เคียงที่ต้องการก่อนในจอ EVF จากนั้นถึงจะปรับแต่งแค่แสงละเอียดอีกครั้งที่ Histogram โดยพยายามให้พิกเซลอยู่ในช่วง L 5-95 หากหลุดไปมากกว่านั้นก็มืดหรือดำจัดจนขาดรายละเอียด ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะภาพที่ถ่ายด้วยว่าเป็นภาพอะไร และต้องการให้มีรายละเอียดปรากฏแค่ไหนด้วย เช่น ภาพย้อนแสงจัดมากจนไม่สามารถรักษาส่วนสว่างได้ ก็จะปรับภาพโดยไม่สนใจว่าส่วนสว่างหายไป กราฟไปกองทางด้านขวา หรือภาพมีส่วนมืดเยอะมากและมืดสนิท เช่นภาพกลางคืน ภาพใช้แฟลช กราฟจะไปกองทางด้านซ้ายมากเป็นพิเศษ
เราสามารถแบ่งภาพออกเป็นรูปแบบใหญ่ๆ ได้เป็น
1.ลักษณะภาพมีโทนกระจายสม่ำเสมอ ลักษณะกราฟจะกระจายไปทั่ว ไม่มีส่วนใดหายไปหรือสูงมากเกินไป
2.ลักษณะภาพมีโทนกลางสูง ขาวและดำน้อย ลักษณะกราฟอยู่ตรงกลางเป็นส่วนใหญ่
3. ลักษณะภาพไม่มีส่วนมืด จะไม่มีกราฟไปตกทางฝั่งซ้าย หรือมีน้อยมากๆ
4.ลักษณะภาพไม่มีส่วนสว่าง ไม่มีกราฟไปตกฝั่งขวา หรือมีน้อยมากๆ
5. ลักษณะภาพย้อนแสง มีส่วนสว่างจ้ามาก กราฟจะขึ้นที่ขวาสุดเยอะนอกนั้นกระจายตัวแถวกลางกราฟ
6.ลักษณะภาพย้อนแสง รักษาเงามืดไว้ได้ กราฟจะอยู่ทางซ้ายเยอะ แต่ไม่ตกไปจนสุด
7. ลักษณะภาพมีส่วนขาวเยอะแบบ High Key กราฟไปทางขวาเยอะ แต่ไม่ตกไปจนสุดกราฟ
8.ลักษณะภาพมีส่วนดำจัดเยอะ กราฟจะไปทางซ้ายเยอะ มีส่วนตกไปเล็กน้อยหรือถ้าคุมให้ไม่มีได้จะดีมาก
9.ลักษณะภาพมีส่วนเงามีรายละเอียดสูง Low Key กราฟไปทางซ้ายเยอะ แต่ไม่มีส่วนที่ตกกราฟไป
10.ลักษณะภาพมีส่วนสว่างและมืด ไม่ค่อยมีโทนกลาง กราฟจะอยู่ทางขวาและซ้ายเยอะ ต้องวัดแสงให้แม่นยำและคุมค่าความเปรียบต่างที่ฟังก์ชั่นตัวกล้องอย่าให้กราฟหลุดออกไปมาก
![]()
Bookmarks