Basic Photography EP.11 : ระบบควบคุมสีภาพ
เราจะเห็นว่าภาพสวยๆ ที่โชว์อยู่ใน Social Media หลายครั้งจะมีการปรับภาพให้ดูน่าสนใจ มีการดึงสีให้สดสด หรือปรับส่วนมืดให้สว่างขึ้น ซึ่งเจ้าของภาพจะบอกว่า ใช้โปรแกรม หรือพูดศัพท์ว่า จบหลังคอม ซึ่งการปรับภาพที่คอมจะเสียเวลาอยู่พอสมควร หากจำนวนภาพที่ต้องการปรับมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งกินเวลามากขึ้นเท่านั้น ในตัวกล้องดิจิตอลปัจจุบันมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ช่วยปรับแต่งภาพให้สวยได้มากระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งจะอยู่ในเมนูตัวกล้องส่วนที่เป็นภาพ สำหรับกล้อง Fujifilm จะอยู่ที่ปุ่ม Q ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกการปรับตั้งเพิ่มเติมเพื่อให้ภาพสวยอย่างที่ต้องการได้ เพียงแค่เรียนรู้ระบบการทำงานของฟังก์ชั่นนั้นว่าทำหน้าที่อะไร และให้ภาพเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง
ภาพใช้ Film Simulation Classic Chrome
ภาพใช้ Film Simulation Soft/Astia
ภาพใช้ Film Simulation Velvia/Vivid
Film Simulation
เป็นการปรับสีภาพโดยอ้างอิงจากสีของฟิล์มถ่ายภาพในอดีต ซึ่งกล้องจะทำการจำลองทั้งความอิ่มตัวของสี การไล่ระดับโทน ความเปรียบต่าง และเฉดสีให้ดูใกล้เคียงฟิล์มถ่ายภาพ และผู้ใช้ยังสามารถปรับตั้งค่าการทำงานอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น Hilight ,Shadow, Saturation โดยหลักจะมีให้เลือกใช้งานคือ
1. STD, Standard, Provia เป็นสีภาพเลียนแบบฟิล์ม Provia จะให้สีสันจัดจ้านและความการไล่ระดับโทนต่อเนื่องปานกลาง เหมาะกับการถ่ายภาพทั่วไป ทั้งภาพบุคคลและภาพทิวทัศน์ที่ไม่ต้องการสีจัดมากนัก
2. Velvia ,Vivid เป็นโหมดสีที่เน้นความเข้มของสีมากๆ เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพมาโคร หรือภาพที่ต้องการสีเข้มมากๆ ยังเหมาะกับสภาพแสงที่ดูทึมๆ จะช่วยให้ภาพดูสดใสขึ้น
3. Soft/Astia เป็นโหมดสีที่ให้ภาพสีไม่จัดจ้านมากนัก เหมาะกับการถ่ายภาพที่ไม่ต้องการให้ภาพดูจัดจ้านเกินไป เน้นความนุ่มนวลของโทนสีเล็กน้อย ใช้ถ่ายภาพบุคคล ภาพสินค้าได้ดี
4. Classic Chrome สีจะไม่จัดจ้านมากนัก โทนสีน้ำตาลจะสวย ความเปรียบต่างส่วนเงาสูง เหมาะกับการถ่ายภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ
5. NH , NPH, Pro-neg Hi เป็นโหมดสีสำหรับการถ่ายภาพบุคคลโดยเฉพาะ เน้นความนุ่มนวลของระดับโทน สีผิวเนียนสวย แต่ยังต้องการความจัดจ้ายของสีอยู่บ้าง
6. NS, NPS, Pro-neg S เป็นโหมดสีที่ให้ภาพนุ่มนวลที่สุด ความเปรียบต่างต่ำ การไล่ระดับโทนต่อเนื่องยาว เน้นสีผิวเป็นหลัก เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลที่ต้องการเน้นสีผิวเป็นพิเศษ
7. BW ภาพขาวดำ มีให้เลือกโหมดย่อยคือ ขาวดำธรรมดา ขาวดำใส่ฟิลเตอร์สีแดง ขาวดำใส่ฟิลเตอร์สีเหลือง ขาวดำใส่ฟิลเตอร์สีเขียว
8. Sepia ภาพโทนเดียว สีน้ำตาล
ฟังก์ชั่น Hilight
เป็นฟังก์ชั่นที่ใช้ในการควบคุมส่วนสว่างของภาพ ช่วยปรับความสว่าง ความเปรียบต่างของส่วนสว่าง โดยจะมี 2 ทิศทางด้วยกันคือ
0 เป็นค่าการ ไม่มีการปรับแต่งใดๆ
+Hilight เป็นการเพิ่มความเปรียบต่างของส่วนสว่าง จะทำให้ส่วนสว่างขาวขึ้น มีการแยกโทนชัดเจนยิ่งขึ้น การใช้งานแนะนำให้ปรับแสงให้ส่วนสว่างมืดลงเล็กน้อย แล้วปรับค่า Hilight เป็น + จะทำให้การแยกโทนส่วนสว่างชัดเจน เหมาะกับภาพ High Key หรือภาพที่มีวัตถุขาวมาก ต้องการแยกแยะรายละเอียดส่วนขาวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือใช้ในกรณีที่คุมแสงจุดสนใจแล้ว ส่วนสว่างยังมืดเกินไป ให้ +Hilight ส่วนสว่างก็จะขาวขึ้น ภาพดูมีมิติมากขึ้น
-Hilight เป็นการลดความเปรียบต่างของส่วนสว่าง จะทำให้ส่วนสว่างมืดลง มีการแยกโทนลดลง เหมาะกับการถ่ายภาพย้อนแสง หรือส่วนสว่างมีความสว่างจ้ามาก เมื่อวัดแสงที่จุดสนใจแล้วส่วนสว่างขาวจ้าเกินไป ก็ให้-Hilight เพื่อดึงรายละเอียดส่วนขาวเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างภาพ Hightlight
ฟังก์ชั่น Shadow
เป็นฟังก์ชั่นที่ใช้ในการควบคุมส่วนมืดของภาพ ช่วยปรับความสว่าง ความเปรียบต่างของส่วนมืด โดยจะมี 2 ทิศทางด้วยกันคือ
0 เป็นค่ากลางไม่มีการปรับแต่งใดๆ
+Shadow เป็นการเพิ่มความเปรียบต่างของส่วนมืด จะทำให้ส่วนมืดดำลงอีก มีโทนเข้มจะมีการแยกโทนชัดเจนยิ่งขึ้น การใช้งานแนะนำให้ปรับแสงให้ส่วนมืดสว่างขึ้นเล็กน้อย แล้วปรับค่า Shadow เป็น + จะทำให้การแยกโทนส่วนมืดชัดเจน เหมาะกับภาพ Low Key หรือภาพที่มีวัตถุสีเข้มมาก ต้องการแยกแยะรายละเอียดส่วนมืดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือใช้ในกรณีที่คุมแสงจุดสนใจแล้ว ส่วนมืดยังเข้มไม่พอ ให้ +Shadow ส่วนมืดก็จะเข้มขึ้น ภาพดูมีมิติมากขึ้น
-Shadow เป็นการลดความเปรียบต่างของส่วนมืด จะทำให้ส่วนมืดสว่างขึ้น มีการแยกโทนลดลง เหมาะกับการถ่ายภาพย้อนแสง หรือส่วนมืดดำมาก เมื่อวัดแสงที่จุดสนใจแล้วส่วนมืดดำเกินไป ก็ให้-Shadow เพื่อดึงรายละเอียดส่วนมืดเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างภาพ Shadow
ฟังก์ชัน Saturation
ใช้ในการเพิ่มลดความจัดจ้านของสี โดย + คือ ทำให้สีจัดขึ้น - ลดความจัดของสีลง เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพมาโคร หรือภาพแนว Street ที่ต้องการสีเข้มข้น หรือให้สีจืดๆ แนวย้อนยุคก็ได้
ตัวอย่างภาพ Saturation
Dynamic Range
เป็นการเพิ่มรายละเอียดในส่วนสว่างของภาพ แตกต่างจาก Hilight ตรงที่ Hilight มีผลตั้งแต่ส่วนเทาอ่อนไปยังขาว แต่ว่า Dynamic Range มีผลเฉพาะส่วนขาวอย่างเดียวเท่านั้น ใช้ในการถ่ายภาพย้อนแสงหรือภาพที่มีความแตกต่างของแสงมากจนรายละเอียดส่วนสว่างหายไป ให้ปรับค่า Dynamic range ไปที่ 200 หรือ 400 เพื่อดึงรายละเอียดเพิ่มขึ้น ฟังก์ชั่น Dynamic Range จะใช้ได้เฉพาะที่ความไวแสง 800 ขึ้นไปเท่านั้น น้อยกว่านั้นฟังก์ชั่นจะไม่ทำงาน
ภาพปรับ DR100
ภาพปรับ DR200
ภาพปรับ DR400
ตัวอย่างภาพ Dynamic range
Sharpness
ใช้ในการเพิ่มหรือลดความคมของภาพ โดยค่า+ เป็นการเพิ่มความคมชัด และ – เป็นการลดความคมชัด โดยการเพิ่มลดความคมจะไม่มีผลในการเพิ่มลดรายละเอียดของภาพ เวลาถ่ายภาพที่ต้องการความคมมากๆ เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพมาโคร สามารถ + Sharpness เข้าไปเพื่อให้ภาพคมขึ้นอีก ส่วนการถ่ายภาพบุคคลที่บางครั้งไม่ต้องการความคมชัดมากๆ สามารถ – Sharpness เพื่อไม่ให้ริ้วรอยบนใบหน้าของแบบชัดจนเกินไป
ตัวอย่างภาพ Sharpness
การเล่นกับฟังก์ชั่นของกล้องจะช่วยให้งานส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องไปปรับที่คอมพิวเตอร์ได้ ช่วยลดการเสียเวลาโดยไม่จำเป็นลง และการปรับที่กล้องจะเป็นการปรับในช่วงแคบ ทำให้ภาพไม่ดูหลอนเพราะปรับมากเกินไปเหมือนการปรับในคอมด้วย
Bookmarks