BasicPhotography EP.8 : ความเร็วชัตเตอร์ ผล และการใช้งาน
ภาพที่ดีควรมีความคมชัด โดยเฉพาะในส่วนของจุดสนใจ หากจุดสนใจไม่คมชัดอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆได้เช่น
1. โฟกัสผิดตำแหน่ง ลักษณะภาพจะไปชัดที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของจุดที่เราต้องการให้ชัด อาจเกิดจากการเลือกจุดโฟกัสผิดพลาด หรือกล้องมีปัญหา
2. ความชัดลึกไม่เพียงพอ ลักษณะภาพจะชัดเฉพาะตำแหน่งที่โฟกัสเท่านั้น ส่วนด้านหน้าและด้านหลังจะเบลอไป หากช่วงความชัดไม่พอ ต้องแก้ที่การหรี่ช่องรับแสงให้แคบลง
3. ภาพสั่นไหว หากสั่นเฉพาะวัตถุที่มีการเคลื่อนที่แสดงว่า วัตถุมีการเคลื่อนไหว
แต่ถ้าสั่นทั้งภาพ แสดงว่ามือถือกล้องไม่นิ่งพอ ต้องแก้ที่การเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น
ความเร็วชัตเตอร์และเวลาเปิดรับแสง
การควบคุมความเร็วชัตเตอร์ช่วยสร้างสรรค์ภาพได้มากมาย ทั้งในด้านความคมชัด อารมณ์ภาพ และความมืดสว่าง ความเร็วชัตเตอร์มีอยู่ 2 แบบคือ
1. ความเร็วชัตเตอร์ หรือ Shutter Speed เป็นเวลาที่ชัตเตอร์เปิดให้แสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์ ถูกควบคุมโดยเวลาเปิดชัตเตอร์ที่เราปรับตั้งที่ตัวกล้องผ่านทางวงแหวนปรับความเร็วชัตเตอร์
2. เวลาเปิดรับแสง Exposure Time คือ เวลาที่แสงตกลงบนเซ็นเซอร์ เมื่อถ่ายภาพด้วยแสงต่อเนื่อง ค่าเวลาเปิดรับแสงจะเท่ากับความเร็วชัตเตอร์ แต่ถ้าเป็นแสงไม่ต่อเนื่อง เวลาเปิดรับแสงจะเท่ากับเวลาที่แสงตกลงบนเซ็นเซอร์ ที่อาจจะไม่เท่ากันในแต่ละจุด

ความเร็วชัตเตอร์ถูกควบคุมด้วยม่านชัตเตอร์ที่ตัวกล้อง
ซึ่งในกล้อง DSLR และ Mirrorless จะมีลักษณะเป็นม่านโลหะหน้าเซ็นเซอร์ ส่วนกล้องแบบ Leaf Shutter หรือ Between-Lens Shutter จะถูกควบคุมโดยม่านชัตเตอร์ที่ตัวเลนส์ กล้อง DSLR มีกลไกลการทำงานต่างจาก Mirrorless และมีขั้นตอนการทำงานต่างกัน
กล้อง DSLR มีกระจกสะท้อนภาพ ในเวลาปกติกระจกสะท้อนภาพจะตั้ง 45 องศา และม่านชัตเตอร์ชนิด Focal Plane Shutter หรือชัตเตอร์หน้าเซ็นเซอร์ปิดอยู่ เมื่อกดชัตเตอร์ กระจกสะท้อนภาพจะกระดกขึ้น แล้วม่านชัตเตอร์เปิดให้แสงเข้า เมื่อครบเวลาม่านชัตเตอร์จะปิดลง ที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ม่านชัตเตอร์จะเปิดทีละชุด ส่วนที่ความเร็วชัตเตอร์สูง ม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 และ 2 จะวิ่งออกมาพร้อมกันเกิดเป็นช่องเปิดตรงกลาง ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่ใช้กับแฟลช เป็นความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่ม่านชัตเตอร์ชุด 1 และ 2 ทำงานกันคนละเวลา หากความเร็วชัตเตอร์สูงกว่าความเร็วที่ใช้กับแฟลช ม่านชัตเตอร์จะวิ่งออกมาคู่กัน หากใช้กับแฟลชจะเกิดเงาดำบังที่ภาพสำหรับกล้องแบบ DSLR และ Mirrorless ส่วนกล้องแบบ Leaf Shutter จะไม่เกิดเงาดำ
ส่วนกล้องแบบ Mirrorless ไม่มีกระจกสะท้อนภาพ เซ็นเซอร์จะเปิดรับแสงตลอดเวลาเพื่อนำภาพไปใช้ในระบบมองภาพของ EVF เมื่อกดชัตเตอร์ม่านชัตเตอร์ชุดแรกจะปิดลงมาแล้วกลับขึ้นไปจนครบเวลาม่านชัตเตอร์ชุด 2 จะปิด การถ่ายภาพจะเสร็จสิ้นลงแล้วม่านชัตเตอร์จะเปิดกลับมาเมื่อให้ระบบมองภาพทำงานใหม่ หลักการทำงานของม่านชุด 1 และ 2 จะเป็นแบบเดียวกับ DSLR
ม่านชัตเตอร์ของกล้องดิจิตอลมักควบคุมด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าในการเปิดปิด โดยเฉพาะในรุ่นที่ชัตเตอร์ทำงานไวมากๆ กล้องแบบ DSLR เมื่อใช้ถ่ายภาพวิดิโอเป็นหลัก ระบบแม่เหล็กไฟฟ้ามันหมดอายุไวเพราะต้องหน่วงม่านชัตเตอร์เอาไว้ตลอดเวลา ทำให้เปลืองแบตเตอรี่มากในการถ่ายภาพวิดิโอ จะสลับกับกล้องแบบ Mirrorless ที่ม่านชัตเตอร์จะเปิดไว้เป็นปกติอยู่แล้ว ทำให้กล้อง Mirrorless เมื่อถ่ายภาพวิดิโอ ม่านชัตเตอร์จะทนทานกว่า
ค่าความเร็วชัตเตอร์
ความเร็วชัตเตอร์จะมีหน่วยเป็นวินาที ถูกตั้งค่าโดยวงแหวนปรับความเร็วชัตเตอร์ที่ตัวกล้อง ค่าความเร็วชัตเตอร์มักมีค่าต่างๆ ดังนี้
B T 30s 15s 8s 4s 2s 1s 2 4 8 15 30 60 125 250 500 1000 2000 4000 8000
การนับเช่นเดียวกับ ISO แต่ละค่าจะห่างกัน 1 stop หรือแสงต่างกัน 2 เท่า ตัวเลข 1 คือ 1 วินาที ส่วนตัวเลขที่มี “ หรือ s คือจำนวนเต็มของวินาที เช่น 4s, 4” คือ 4 วินาที ส่วนตัวเลขโดดๆ คือ 1/วินาที 30 คือ 1/30 วินาที เป็นต้น
ส่วนความสัมพันธ์ของตัวเลขจะเป็น Stop หรือแสงต่างกัน
2 เท่า เช่น 1/30 กับ 1/60 ต่างกัน 1 stop โดย 1/30 เปิดนานกว่า แสงเข้ามากกว่า 1/60 อยู่ 1 stop 1/60 เปิดเร็วกว่า แสงเข้าน้อยกว่า 1/30 อยู่ 1 stop ทุกๆ ความเร็วชัตเตอร์ที่เปลี่ยนไป 1 stop จะทำให้ค่าความไวแสงและช่องรับแสงเปลี่ยนไป 1 stop เช่นกัน เช่น วัดแสงได้ 1/30 f/8 iso 400 เมื่อเปลี่ยนชัตเตอร์เป็น 1/60 ต้องเปิด f/5.6 หรือเป็น iso 800 เป็นต้น
การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์
ค่าความเร็วชัตเตอร์ B จะเปิดให้แสงเข้าตราบเท่าที่กดปุ่มกดชัตเตอร์เอาไว้ (โดยกดเองหรือใช้รีโมท) โดยผู้ถ่ายภาพต้องนับเวลาเอง ในกล้อง Fujifilm ที่จอจะแสดงเวลาเปิดชัตเตอร์นับเอาไว้ให้ หากไม่มีต้องใช้นาฬิกาจับเวลาเอาเอง
ชัตเตอร์ T โดยปกติมีความหมายเช่นเดียวกับ B เมื่อกดชัตเตอร์ครั้งแรก ชัตเตอร์จะเปิด เมื่อกดอีกครั้ง ชัตเตอร์จะปิด ทำให้ไม่ต้องใช้รีโมทแต่ต้องกดชัตเตอร์ 2 ครั้ง ส่วนชัตเตอร์ T ในกล้อง Fujifilm X-Sereis จะมีอีก 1 ความหมาย
คือ จะปรับตั้งเวลาเปิดชัตเตอร์เท่าไรก็ได้ตั้งแต่ 30-1/8000 วินาทีที่ค่า T โดยการหมุนวงแหวนปรับชัตเตอร์ที่ตัวกล้อง เพื่อให้สะดวกในการปรับใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างรวดเร็ว
ชัตเตอร์ 30-1 วินาทีเป็นชัตเตอร์นาน
1-1/15 เป็นชัตเตอร์ต่ำ ซึ่งต้องใช้ขาตั้งกล้องหรือระวังการสั่นไหวมาก
1/30-1/250 เป็นชัตเตอร์ปานกลางสำหรับถ่ายภาพปกติทั่วไป
และ 1/500 ขึ้นไปเป็นชัตเตอร์สูงสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไรให้พิจารณาจากภาพที่ต้องการ อัตราขยายของภาพ การเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพ
หากวัตถุเคลื่อนที่ ต้องการให้หยุดนิ่ง ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง แต่ถ้าต้องการให้วัตถุดูเคลื่อนที่ ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ วัตถุที่อยู่นิ่ง ใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไรก็ได้หากใช้ขาตั้งกล้อง แต่ถ้าถือกล้องด้วยมือควรใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากพอที่จะหยุดการสั่นของกล้องได้
โดยปกติคือ 1/ทางยาวโฟกัส สำหรับกล้อง Full Frame และ 1/ (2xทางยาวโฟกัส) ในกล้องแบบ Mirrorless เช่น เลนส์ 50 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/50 วินาทีขึ้นไปสำหรับกล้อง Full Frame หรือ 1/100 วินาทีในกล้อง Mirrorless ทั้งนี้ขึ้นกับความนิ่งของมือ จำนวนพิกเซลของกล้อง และอัตราขยายภาพที่ใช้งานด้วย อย่างไรก็ตาม หากกล้องมีระบบลดการสั่นไหวของภาพ แนะนำให้เปิดใช้เมื่อไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง และควรปิดเมื่อใช้ขาตั้งกล้อง หากไม่ปิดเมื่อใช้ขาตั้งจะทำให้ภาพสั่นเพราะการทำงานของระบบลดการสั่นไหว
การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมจะมีผลต่ออารมณ์ของภาพ เช่น ภาพน้ำตก ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงจะดูสายน้ำรุนแรงมีพลัง
ส่วนความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะให้สายน้ำดูพริ้วไหว นุ่มนวล
การปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์กับการควบคุมแสง
ทุกๆ ความเร็วชัตเตอร์ที่เปลี่ยนไป 1 stop จะทำให้ค่าความไวแสงและช่องรับแสงเปลี่ยนไป 1 stop เช่นกัน เช่น วัดแสงได้ 1/30 f/8 iso 400 เมื่อเปลี่ยนชัตเตอร์เป็น 1/60 ต้องเปิด f/5.6 หรือเป็น iso 800 ในการใช้งานภาคสนาม เราจะดูว่าภาพต้องคุมความเร็วชัตเตอร์ไว้เท่าไร เช่น กำลังถ่ายภาพคนกระโดด ตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ 1/1000 วินาที จากนั้นทำการปรับช่องรับแสงเพื่อให้ภาพสว่างพอดี หากปรับแล้วไม่ได้ให้ปรับ ISO เพิ่มขึ้นเพื่อให้ภาพพอดี
- หากเป็นภาพที่ต้องคุมทั้งความเร็วชัตเตอร์และช่องรับแสง แนะนำให้ตั้งความไวแสงที่ Auto แล้วตั้งความเร็วชัตเตอร์กับช่องรับแสงที่ต้องการ การปรับภาพให้มืดสว่างเพิ่มเติมให้ปรับที่วงแหวนชดเชยแสงแทน
- หากต้องการคุมความเร็วชัตเตอร์อย่างเดียวเป็นหลัก และต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน แนะนำให้ใช้โหมดถ่ายภาพแบบ Shutter Priority โดยการปรับช่องรับแสงที่ตัวเลนส์ไว้ที่ A หรือโหมด TV หรือโหมด S แล้วแต่ยี่ห้อกล้อง จากนั้นตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ กล้องจะเลือกช่องรับแสงให้อัตโนมัติ สามารถใช้ร่วมกับความไวแสงอัตโนมัติ และควบคุมความสว่างของภาพเพิ่มเติมทางวงแหวนชดเชยแสงได้ จะทำให้ถ่ายภาพได้รวดเร็วและลดภาระการปรับตั้งออกไป
Bookmarks