BasicPhotography EP.5 : การเลือกใช้และสิ่งน่ารู้เกี่ยวกับเลนส์
เลนส์มีให้เลือกใช้มากมายทั้งทางยาวโฟกัสและชนิดของเลนส์ เราจะเลือกใช้เลนส์โดยพิจารณาจากอะไรเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ
1. มุมการรับภาพของภาพที่ต้องการจากตำแหน่งที่ถ่ายภาพ ว่าเราต้องการมุมถ่ายภาพแบบกว้างหรือแคบ หากต้องการมุมกว้างก็ใช้เลนส์มุมกว้าง หากต้องการมุมการรับภาพแคบ เจาะบางตำแหน่งในภาพให้ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์กว้างๆ เราจึงใช้เลนส์มุมกว้าง หากต้องการถ่ายเจาะเข้าไป เราจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ในการถ่ายภาพ เป็นหลักการง่ายๆ ในการเลือกเลนส์
2. Perspective หรือสัดส่วนของวัตถุกับฉากหน้าและฉากหลัง เลนส์มุมกว้างมีมุมการรับภาพกว้าง จึงให้ขนาดวัตถุที่เล็ก ฉากหลังกว้าง วัตถุที่ปรากฏในฉากหลังจะเล็กกว่าเลนส์เทเลโฟโต้ ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้มีมุมการรับภาพแคบ จึงให้ขนาดวัตถุที่ใหญ่กว่า ฉากหลังเจาะแคบ และวัตถุที่ฉากหลังมีขนาดใหญ่กว่า ด้วยหลักการนี้ ช่างภาพที่ชำนาญจะสามารถควบคุมมุมและขนาดวัตถุที่ฉากหลังโดยการเลือกมุมการรับภาพของเลนส์ที่จะใช้งาน
ลองดูภาพตัวอย่างนี้
จากภาพตัวอย่างจะเห็นว่า เมื่อต้องการถ่ายภาพวัตถุให้มีขนาดเท่ากัน การใช้เลนส์มุมกว้างจะอยู่ใกล้วัตถุ มุมการรับภาพที่กว้างทำให้วัตถุที่ฉากหลังดูไกลและเล็กเหมือนถูกผลักออก ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้มุมการรับภาพแคบ ทำให้เวลาถ่ายจะอยู่ไกลจากวัตถุมากกว่า แต่มุมการรับภาพที่แคบจะทำให้ฉากหลังแคบไปด้วย วัตถุที่ฉากหลังจึงดูอยู่ใกล้และมีขนาดใหญ่กว่าภาพจากเลนส์มุมกว้าง อาศัยหลักการนี้ในการเลือกทางยาวโฟกัสเพื่อควบคุมขนาดวัตถุและฉากหลังที่ต้องการ
Persective เกิดได้ในหลายรูปแบบ เช่น เมื่อตั้งกล้องภาพเกิดการผิดส่วน เช่น ถ่ายภาพตึกแล้วยอดตึกเล็ก ฐานตึกปกติ เป็นเพราะตั้งกล้องไม่ได้ระนาบขนานกับระนาบวัตถุ จึงทำให้ส่วนที่อยู่ใกล้เลนส์ดูใหญ่ ส่วนไกลเลนส์ดูเล็ก ดังภาพตัวอย่าง สามารถแบ่ง Perspective ในกรณีนี้ได้เป็น 3 แบบคือ
1. Low Angle Perspective ถ่ายภาพจากมุมต่ำเงยขึ้น จะทำให้ด้านล่างภาพดูใหญ่ ด้านบนของภาพดูเล็ก
2. Eye Level Perspective ถ่ายภาพจากระยะกึ่งกลางของวัตถุและตั้งกล้องขนานกับระนาบวัตถุ ภาพจะดูไม่ผิดส่วน
3. High Angle Perspective ถ่ายภาพจากมุมบนแล้วกดลง ทำให้ด้านบนดูใหญ่ ด้านล่างดูเล็ก
เวลาถ่ายภาพสิ่งของ ตึก อาคาร หรือบุคคล หากไม่ต้องการให้ผิดส่วนจะตั้งกล้องที่ระยะกึ่งกลางของวัตถุ ไม่ก้มหรือเงยกล้อง ให้กล้องขนานกับระนาบวัตถุ แต่ถ้าต้องมีก้มหรือเงย จะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ถ่ายภาพจากระยะไกล ก็จะทำให้การผิดส่วนลดลง ยิ่งใช้เลนส์เทเลโฟโต้มากเท่าไร การผิดส่วนยิ่งลดลงเท่านั้น หรือใช้เลนส์พิเศษที่เรียกว่า Perspective Control Lens (PC Lens) หรือ Shift Lens ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงพอสมควร
ขนาดของฉากวัตถุหลังเมื่อเทียบกับตัวแบบ และการหลอกตาว่าฉากหลังใกล้หรือไกลเป็นเหตุผลหลักในการเลือกทางยาวโฟกัสของเลนส์ เลนส์มุมกว้างจะดูวว่าฉากหลังอยู่ไกล ส่วนเลนส์เทเลโฟโต้จะให้ภาพที่ดูเหมือนฉากหลังอยู่ใกล้
Distortion
หลายคนจะเข้าใจผิดเรื่อง Distortion กับ Perspective Distortion เป็นอาการโค้งของภาพที่เกิดจากเลนส์ ส่วน Perspective เป็นขนาดของวัตถุที่ผิดเพี้ยนจากระยะใกล้ไกลจากกล้อง Distortion มีลักษณะเส้นตรงกลายเป็นเส้นโค้งที่ขอบภาพ มี 3 แบบใหญ่ๆ คือ โค้งออก (Barrel) โค้งเข้า(Pincushion) และแบบลูกคลื่น(Mustache) Distortion จะรบกวนภาพเวลาที่ถ่ายภาพซึ่งมีเส้นตรง จะเห็นว่าเส้นตรงกลายเป็นเส้นโค้ง เช่น เส้นขอบฟ้า เสาในแนวดิ่ง ฯลฯ Distortion เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความโค้งของชิ้นแก้ว จะมีน้อยหรือมากขึ้นกับการออกแบบแก้ไขทาง Optic และบางครั้งอาจจะต้องแก้ด้วย Software ในตัวกล้องด้วย
เลนส์ไวแสง
เลนส์ไวแสงคือ เลนส์ที่ให้แสงผ่านเข้าได้มาก มีความกว้างของช่องรับแสงกว้างสุดตั้งแต่ F2.8 ลงมา เช่น F1.4 F2 F1.8 F0.9 เป็นต้น เลนส์ไวแสงให้ภาพในช่องมองภาพที่สว่าง มีแนวโน้มว่าจะโฟกัสได้เร็วในสภาพแสงน้อย และมีความแม่นยำในการโฟกัสสูงจากการที่แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ในตัวกล้องได้มาก ให้ฉากหลังเบลอได้มากกว่า จึงนิยมใช้ในการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย ภาพกีฬาในอาคาร ภาพสัตว์ป่า ภาพบุคคล และภาพแนวสารคดี ฯลฯ แต่เลนส์จะมีขนาดใหญ่ หนัก และราคาสูงตามไปด้วยเช่นกัน เหมาะกับผู้ที่ต้องการไฟล์ภาพคุณภาพสูงเป็นหลัก
ข้อมูลหน้าเลนส์
เลนส์ถ่ายภาพจะมีข้อมูลบอกที่หน้าเลนส์แสดงถึงคุณลักษณะของเลนส์ ได้แก่
1. ยี่ห้อเลนส์ เช่น Fujinon
2. ชิ้นเลนส์พิเศษที่ใช้ในเลนส์ มักมี 2 แบบคือ ED,UD,LD,FD คือ ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดสี และ ASL เป็นชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
ความคลาดสีหรือ Chromatic Aberation เป็นความคลาดที่เกิดจากแสงสีขาวแยกออกเป็นน้ำเงิน เขียว และแดงและไปตกคนละจุดในภาพแทนที่จะรวมกับเป็นจุดเดียว จะเกิดได้ทั้งกลางภาพและขอบภาพ ลักษณะเลนส์ที่เกิดความคลาดสีจะเห็นว่าเกิดขอบสีแดง เขียว น้ำเงิน หรือม่วงกระจายออกมาที่ขอบวัตถุหรือรอยต่อระหว่างส่วนมืดกับส่วนสว่าง ทำให้ภาพมีความคมชัดลดลง การแก้ความคลาดสีจะใช้ชิ้นเลนส์พิเศษ เช่น ED อาการคลาดสีก็จะลดลงไป
ความคลาดทรงกลม Aspherical Aberation เป็นความคลาดที่เกิดจากแสงที่วิ่งไปยังกลางเลนส์กับขอบเลนส์มาตกลงคนละจุด ทำให้ภาพเกิดความฟุ้งเพราะมีภาพที่ชัดและไม่ชัดซ้อนกันอยู่ทั่วทุกจุด ความคมชัดของภาพจึงลดลงไปมาก การแก้ไขจะใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่ผิวไม่เป็นทรงกลมเรียกว่า Aspherical Lens Element เข้ามาช่วยคุมแสงที่กลางและขอบภาพให้มาตัดกันที่จุดเดียว
3. Super EBC คือ การโค้ทผิวเลนส์ลดแสงสะท้อน ชิ้นแก้วที่ใช้ทำเลนส์จะสะท้อนแสงผิวหน้าละประมาณ 5% แก้ว 1 ชิ้นจะสะท้อนแสงเกือบ 10% เลนส์ตัวหนึ่งมีชิ้นแก้ว 10 ชิ้นก็จะสะท้อนแสงไปมา เหลือผ่านออกจากเลนส์ไปได้เพียง 36% เท่านั้น แสง 64% จะสะท้อนไปมาในตัวเลนส์ทำให้ภาพไม่คม สีสันจืดชืด และเต็มไปด้วยแสงฟุ้งแสงหลอนมากมาย การโค้ทผิวจะทำการโค้ทผิวหน้าเลนส์ด้วยสารประกอบพวกแมกนีเซียมฟลูออไรด์ ทำให้แสงสะท้อนที่ผิวหน้าเลนส์ลดลงอย่างมาก Super EBC, Nano Coating เป็นเทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์ลดแสงสะท้อน สามารถลดแสงสะท้อนได้เหลือเพียง 0.01% เท่านั้น ชิ้นเลนส์ 10 ชิ้นจะสะท้อนแสงเพียง 2% แสงผ่านออกไปได้ถึง 98% ทำให้ภาพคมชัด และมีสีสันสดใสมากกว่า
4. เมาท์เลนส์หรืออนุกรมเลนส์ เช่น XF
5. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น 10-24 เป็นเลนส์ซูมเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ตั้งแต่ 10 ถึง 24 มม. ถ้าเป็นเลนส์เดี่ยว ทางยาวโฟกัสจะคงที่เป็นเลขตัวเดียว เช่น 10มม.
6. ช่องรับแสงกว้างสุด ใช้ตัวเลขเป็น 1:xx ตัวเลข xx คือช่องรับแสงกว้างสุดของเลนส์ เลนส์ 2.8 ลงมาจะเป็นเลนส์ไวแสง
7. R เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเลนส์มีวงแหวนปรับช่องรับแสงที่ตัวเลนส์ สัญลักษณ์นี้จะใช้ไม่เหมือนกัน แล้วแต่เลนส์แต่ละยี่ห้อจะกำหนดออกมา
8. OIS เป็น ระบบลดการสั่นไหวของเลนส์ โดยจะมีชิ้นเลนส์พิเศษเคลื่อนที่ช่วยให้ภาพนิ่งขึ้นเมื่อถ่ายภาพโดยใช้มือถือกล้อง ช่วยให้ภาพคมขึ้นเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย ใช้ชัตเตอร์ต่ำๆ เมื่อใช้ขาตั้งกล้องต้องปิดระบบลดการสั่นไหว
9. Ø72 เป็นสัญลักษณ์แสดงขนาดฟิลเตอร์ที่หน้าเลนส์ ว่ามีขนาดเท่าไร
10. LM เป็นสัญลักษณ์แสดงการใช้มอเตอร์แบบ Linear Motor ในการปรับความชัด ซึ่งจะไวและเงียบสนิท แต่ละเลนส์อาจจะจะใช้มอเตอร์ต่างกับ เช่น USM , LM, DM แล้วแต่ละผู้ผลิตเลนส์จะเลือกใช้งาน
ควรมีเลนส์อะไรบ้าง
โดยปกติจะดูลักษณะภาพที่จะถ่ายว่าชอบแนวไหน ถ้าชอบถ่ายภาพทิวทัศน์จะเน้นไปที่เลนส์มุมกว้างไปจนถึงเทเลอ่อนๆ เช่น 16-55 , 10-24 , 18-135 จะได้ใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์มากที่สุด หากชอบถ่ายภาพบุคคลควรมีเลนส์เทเลโฟโต้ช่องรับแสงกว้าง เช่น 56mm.F1.2 ,
หรือเลนส์มาตรฐาน เลนส์มุมกว้างช่องรับแสงกว้าง เช่น 35mm.F1.4 หากชอบถ่ายภาพมาโครแนะนำให้มีเลนส์มาโครเช่น 60mm.F2.4 105mm.F2.8 เป็นต้น ส่วนชอบถ่ายภาพสัตว์ป่า นก หรือภาพระยะไกล ควรใช้เลนส์ Super-Telephoto เช่น 160-600mm. 400mm. เป็นต้น
ช่วงเริ่มต้นแนะนำให้ใช้เลนส์ซูมเพราะประหยัดงบประมาณและสารพัดประโยชน์ เมื่อถ่ายภาพจนรู้ความต้องการของตัวเองแล้ว แนะนำให้ใช้เลนส์ที่ราคาสูงคุณภาพสูงในภายหลัง
Bookmarks