BasicPhotography EP.3 : การเลือกใช้ระบบถ่ายภาพแบบโปรแกรมอัตโนมัติ
กล้องดิจิตอลจะมีระบบโปรแกรมอัตโนมัติให้ผู้ที่ปรับตั้งกล้องยังไม่เก่ง หรือยังไม่เข้าใจเทคนิคการถ่ายภาพดีนักได้เลือกใช้งาน มักเรียกว่า Scene Position Program สำหรับกล้องอย่าง Fujifilm XT-10 มีระบบโปรแกรมอัตโนมัติให้เลือกใช้ โดย
1. การผลักสวิตช์เลือกโหมดถ่ายภาพไปที่ Auto กล้องจะเข้าสู่ระบบโปรแกรมอัตโนมัติ
2. เลือกระบบโปรแกรมโดยการหมุนวงแหวนหลังกล้องบนขวา
ระบบโปรแกรมอัตโนมัติทำหน้าที่เลือก ความเร็วชัตเตอร์ ช่องรับแสง ความไวแสง ระบบ Face Detection ระบบสี ช่วงการรับแสง ฯลฯ เพื่อให้การทำงานของกล้องเหมาะสมที่สุดกับลักษณะภาพนั้นๆ ผู้ใช้กล้องเพียงเลือกระบบโปรแกรมที่ใช้ให้ถูก จัดองค์ประกอบให้สวยงาม แล้วกดชัตเตอร์เท่านั้นเอง
ระบบถ่ายภาพแบบโปรแกรมมีให้เลือกใช้งานดังนี้
1. SR+ หรือ Scene Recognize เป็นระบบโปรแกรมซึ่งจะวิเคราะห์ลักษณะภาพที่ถ่ายแล้วเลือกโหมดถ่ายภาพที่เหมาะสมให้อัตโนมัติทั้งหมด 16 รูปแบบด้วยกัน
2. Portrait สำหรับการถ่ายภาพบุคคลเดี่ยวหรือภาพกลุ่ม 2-3 คน โหมดนี้เน้นสีผิวนุ่มนวล ความเปรียบต่างปานกลาง เพื่อให้สีผิวดูสวย ระบบ Face Detection ทำงานและวัดแสงที่หน้าเป็นหลัก ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S เมื่อถ่ายภาพคนอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าคนมีการเคลื่อนไหวควรใช้ระบบโฟกัสแบบ C และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ CL , CH เพื่อโฟกัสติดตามตัวแบบและถ่ายภาพต่อเนื่องได้
3. Portrait Enhancer ทำงานเหมือนโหมดถ่ายภาพบุคคล แต่เน้นความนุ่มและเนียนเรียบของสีผิวมากขึ้นไปอีก เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลแนวเซลฟี่ด้วย การปรับระบบโฟกัสและระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบเดียวกับการถ่ายภาพบุคคล
4. Landscape เน้นความคม รายละเอียด สีสันจัด เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพที่ต้องการสีจัดจ้านเป็นหลัก ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S เพราะเป็นการถ่ายภาพวัตถุที่อยู่นิ่ง
5. Sport ใช้ถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง เน้นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อหยุดการเคลื่อนไหว โฟกัสต่อเนื่องติดตามวัตถุเป็นหลัก ใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ต้องการให้หยุดนิ่งทุกประเภท ไม่ว่าจะภาพคนวิ่ง เด็กเดิน นกบิน ได้หมด ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ C และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ CL หรือ CH
6. Night ใช้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเวลากลางคืนโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง กล้องจะปรับความไวแสงสูง ชัตเตอร์ปานกลาง ช่องรับแสงกว้าง เพื่อให้สามารถใช้มือถือกล้องได้นิ่งพอ ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S
7. Night (Tripod) ใช้ถ่ายภาพกลางคืนใช้ขาตั้งกล้อง แบบเดียวกับโหมดถ่ายภาพกลางคืน แต่จะได้ความไวแสงและความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าโหมดภาพกลางคืนปกติเพื่อให้ได้คุณภาพไฟล์ที่ดีขึ้น ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S
8. Fireworks ใช้ถ่ายภาพไฟกลางคืนและไฟประดับ คล้ายระบบถ่ายภาพกลางคืน แต่จะปรับสมดุลสีของแสงไปที่แสงกลางวัน สีพลุทีได้จะใกล้เคียงตาเห็นเพราะสีไม่ถูกกล้องแก้ไข ควรใช้ขาตั้งกล้อง ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S
9. Sunset ใช้ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก และพระอาทิตย์ขึ้น กล้องจะปรับสีภาพให้เหมาะกับการถ่ายภาพพระอาทิตย์ แสงจะออกแดงเหลืองเล็กน้อย ภาพจะเน้นส่วนสว่าง ส่วนย้อนแสงจะมืดลงเน้นลักษณะภาพเงาดำ ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S
10. Snow คือ ภาพลักษณะที่มีส่วนขาวมาก กล้องจะวัดแสงโดยรักษาส่วนขาวเอาไว้ให้ไม่ขาวจนรายละเอียดหายไป ในเมืองไทยไม่มีหิมะ โหมดนี้เอาไว้ถ่ายภาพลักษณะไฮคีย์ มีส่วนขาวมากๆ ในภาพ ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S
11. Beach ใช้เวลาถ่ายภาพที่ฉากหลังมีสีขาวมากย้อนแสง กล้องจะปรับแสง ความเปรียบต่าง ให้ส่วนย้อนแสงไม่ดำมาก แต่ก็พยายามรักษาส่วนสว่างเอาไว้ด้วย ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ S และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ S
12. Underwater ใช้เวลาถ่ายภาพในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นทะเลหรือในสระน้ำ หรือตู้ปลาขนาดใหญ่ ซึ่งปกติภาพจะออกสีฟ้าค่อนข้างเยอะ ระบบถ่ายภาพใต้น้ำจะช่วยลดสีน้ำเงินลง ให้ภาพเป็นธรรมชาติมากขึ้น
13. Party สำหรับการถ่ายภาพในอาคาร กล้องจะปรับแสงโดยอ้างอิงจากแสงฉากหลังเป็นหลัก ในระบบถ่ายภาพนี้จะใช้แฟลชร่วมด้วยก็ได้
14. Flower กล้องจะเข้าสู่ระบบถ่ายภาพระยะใกล้ ปรับสีสันภาพให้จัดจ้านเพื่อให้ดอกไม้สวย จะใช้ในการถ่ายภาพระยะใกล้แบบอื่นๆ ด้วยก็ได้เช่นกัน
15. Text ใช้ในการถ่ายภาพลายเส้น ตัวอักษร กล้องจะปรับภาพให้คมชัดเป็นพิเศษ และเพิ่มความเปรียบต่างให้กับภาพ เพื่อให้ลายเส้นชัดเจนขึ้น
ข้อสำคัญในการใช้ระบบถ่ายภาพโปรแกรมอัตโนมัติแบบ Scene Position
- การเลือกระบบให้เหมาะสมกับลักษณะภาพที่ถ่าย
- สังเกตุความเร็วชัตเตอร์และขนาดช่องรับแสงที่กล้องตั้งให้ว่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำหรือไม่ ถ้าต่ำกว่า SS60 (คือ Shutter Speed 1/60 วินาที) พยายามถือกล้องให้นิ่งที่สุด
- ดูภาพที่จอหรือช่องมองภาพ (แนะนำให้ใช้ช่องมองภาพเพื่อให้แสงภายนอกไม่รบกวนการมองเห็นภาพ) หากมืดเกินไปให้ชดเชยแสง+ ถ้าสว่างเกินไปชดเชยแสง- เพื่อให้ความสว่างของภาพดูดีที่สุด
นอกจากระบบถ่ายภาพแล้ว กล้องดิจิตอลหลายรุ่นจะมีระบบ Art Filter หรือ Filter Effect ปรับสีภาพให้ดูน่าสนใจ ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ถึง 13 ระบบ
1. Toy Camera ปรับภาพให้เกิดขอบมืด ลักษณะจะเหมือนถ่ายด้วยกล้องรูเข็ม กล้องสมัยเก่า ส่วนกลางภาพจะสว่างปกติ เอาไว้ถ่ายภาพบุคคลหรือภาพทิวทัศน์ได้ดี
2. Miniature ปรับภาพให้ด้านบนและล่างเบลอไป ส่วนกลางจะชัด เอาไว้ถ่ายภาพมาโคร ภาพวิว ให้ดูน่าแปลกตา หรือถ่ายภาพบุคคลในแนวตั้ง ให้คนอยู่ตรงกลาง จะเน้นจุดสนใจได้ดีด้วยเช่นกัน
3. Pop Color ปรับภาพให้สีจัดจ้านและความเปรียบต่างสูงขึ้น ใช้ถ่ายภาพได้ทุกแนวที่ต้องการสีจัด โดยเฉพาภาพดอกไม้ อาหาร หรือทิวทัศน์
4. High Key ใช้ถ่ายภาพที่มีส่วนสว่างเยอะและต้องการรักษาส่วนสว่าง เช่น ภาพคนใส่ชุดขาวบนฉากหลังขาว หรือภาพริมชายทะเลที่มีหาดทรายเข้ามาในภาพ
5. Low Key ใช้ถ่ายภาพที่มีส่วนมืด วัตถุสีเข้ม ค่อนข้างเยอะ และต้องการให้ภาพดูมืดแต่มีรายละเอียด ใช้เวลาถ่ายภาพคนสวมเสื้อสีเข้มกับฉากหลังสีเข้มได้ดี
6. Dynamic Tone จะปรับภาพให้ความเปรียบต่างสูง สีจะจัดจ้าน เหมาะกับภาพที่ต้องการสีจัดจ้านเป็นพิเศษ ภาพทิวทัศน์ ดอกไม้
7. Soft Focus จะทำการซ้อนภาพเบลอและชัดเข้าด้วยกัน ทำให้ภาพยังคมชัดแต่มีแสงฟุ้งๆ นุ่มนวล เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคล หรือภาพที่ต้องการความนุ่มนวลชวนฝัน ภาพทิวทัศน์ยามเช้า ทุ่งดอกไม้ก็สวยงาม
8. Partial Color Red ปรับภาพให้เป็นขาวดำ โดยคงสีแดงในภาพเอาไว้
9. Partial Color Orange ปรับภาพให้เป็นขาวดำ โดยคงทีส้มเอาไว้
10. Partial Color Yellow ปรับภาพให้เป็นขาวดำ โดยคงสีเหลืองเอาไว้
11. Partial Color Green ปรับภาพให้เป็นขาวดำ โดยคงสีเขียวเอาไว้
12. Partial Color Blue ปรับภาพให้เป็นขาวดำ โดยคงสีน้ำเงินเอาไว้
13. Partial Color Purple ปรับภาพให้เป็นขาวดำ โดยคงสีชมพูเอาไว้
โหมด Filter Effect ใช้ปรับแต่งภาพให้ดูแปลกตา แต่ถ้าต้องการภาพปกติด้วย แนะนำให้ถ่ายภาพไว้ 2 ภาพคือ ภาพปกติ และภาพเล่น Filter Effect
ตอนหน้าเรามาเรียนรู้เรื่องเลนส์และการเลือกใช้เลนส์ในการถ่ายภาพแบบต่างๆ กัน
Bookmarks