8 ธันวาคม 2557 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เชิญชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Shower) หรือฝนดาวตกคนคู่ ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2557 สามารถสังเกตการณ์ได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีอัตราการตกไม่เกิน 120 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลา 20:00 - 00: 30 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งหลังจากเวลา 00 : 30 น. เป็นต้นไปดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก แสงสว่างจากดวงจันทร์จะเข้ามารบกวนการสังเกตการณ์ดังกล่าว (ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 14 ธันวาคม 2557 นั้นตรงกับวันแรม 8 คำ่ ดวงจันทร์ครึ่งดวง)
ปรากฏการ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็น ลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)
ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการชมฝนดาวตกว่า ในการเลือกสถานที่เฝ้ารอชมฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน จะทำให้สามารถสังเกตเห็นดาวตกที่มีความสว่างและสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่ก็ควรระมัดระวังถึงความปลอดภัยด้วย ส่วนวิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดนั้น เนื่องจากการชมฝนดาวตกต้องอาศัยระยะเวลานานหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีนอนรอชมเพื่อไม่ให้เกิดอาการเมื่อยคอ นอกจากนี้ในช่วงเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่มีอากาศหนาว จึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวไปด้วย หมายเหตุ: ทั้งนี้เราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ในทุกๆ คืนอยู่แล้ว เพียงแต่อัตราการตกของดาวนั้นมีน้อยและที่สำคัญไปกว่านั้นดาวตกดังกล่าวไม่ได้มีจุดศูนย์กลางการกระจายหรือจุดเรเดียนท์ (Radiant) จากจุดเดียวกัน แตกต่างจากปรากฏการณ์ฝนดาวตก
เรียบเรียงโดย
ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
http://www.narit.or.th/index.php/ast...wer-narit-2557
Bookmarks